วันเสาร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2554

แนวคิดเกี่ยวกับการจัดการภาครัฐแนวใหม่

            แนวคิดเกี่ยวกับการจัดการภาครัฐแนวใหม่ เป็นแนวคิดที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อการบริหารระบบราชการไทยในปัจจุบัน เป็นแนวคิดที่พัฒนาสืบเนื่องมาจากแนวคิดคิดการบริหารงานภาครัฐแนวใหม่หรือ New Public Administration (New PA.)


กล่าวคือหลังจากที่มีการใช้แนวทาง การบริหารงานภาครัฐแนวใหม่ (New PA.) มาตั้งแต่ปี 1968 โดยประมาณ พบว่ามีผลทำให้ระบบราชการเติบใหญ่มากขึ้น เพราะจุดเน้นของ New PA คือการลงไปสร้างบริการสาธารณะให้กับประชาชนให้ทั่วถึงมากขึ้น ทำให้เกิดปัญหาหลายประการโดยเฉพาะความล่าช้าของการทำงานในระบบราชการ


ขณะเดียวกันในเวลานั้นสภาพของการแข่งขันระหว่างประเทศได้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ขณะที่ระบบราชการยังเป็นระบบผูกขาดทำให้ขาดความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากระบบราชการมีต้นทุนสูง ทำให้ภาพรวมในการบริหารงานอยู่ในลักษณะที่เรียกว่ามีประสิทธิภาพต่ำ ซึ่งต่างจากภาคเอกชนและประชาชนที่เวลานั้นมีความเติบโต แข็งแรงมากขึ้น


ทั้งหมดนี้กลายเป็นแรงผลักให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากแนวคิดแบบ New PA มาเป็น New PM ประมาณปี 1980 ซึ่งเป็นแนวคิดหลักที่นำมาใช้ในการบริหารงานภาครัฐในปัจจุบัน รวมทั้งเป็นแนวทางในการปฏิรูประบบราชการของไทยด้วย


ทั้งนี้หลักการของ New Public Management ประกอบไปด้วย


1.การสร้างการบริการที่มีคุณภาพแก่ ประชาชน โดยภาครัฐจะต้องหันมาสร้างบริการที่รวดเร็ว โปร่งใส และสร้างความประทับใจให้กับประชาชนอันเป็นเสมือนลูกค้า


หลักการข้อนี้ถูกนำมาใช้กับประเทศไทยตั้งแต่ ปี 2532 โดยมีการประกาศใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้บริการของรัฐปี 2532 เช่นการกำหนดว่าในการขอรับบริการของประชาชนในเรื่องต่างๆจะต้องใช้เวลานานแค่ไหน การจัดระบบคิวในการติดต่อราชการ การจัดระบบนัดล่วงหน้าเพื่อไม่ให้ประชาชนไปคอยเสียเวลาที่หน่วยราชการอีกต่อไป


เราจึงพบว่าในปัจจุบันข้าราชการให้บริการประชาชนด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใจมากขึ้น ประชาชนได้รับบริการที่รวดเร็วขึ้น สะดวกมากขึ้น เช่นสามารถทำบัตรประชาชนที่ไหนก็ได้โดยไม่ต้องเดินทางกลับไปที่ภูมิลำเนา


2.สนับสนุนให้ลดการควบคุมจากส่วนกลางและเพิ่มอิสระในการบริหารงานให้แก่หน่วยงานมากขึ้น หรือเน้นการกระจายอำนาจ ผ่อนคลายกฎระเบียบให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการ


ดังเราจะพบว่าเวลานี้หน่วยงานระดับล่างของไทยมีอำนาจในการตัดสินใจมากขึ้น


3.New PM ให้ความสำคัญกับผลการปฏิบัติงาน หมายถึงเน้นการวัดผลการทำงานว่าประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน


แนวทางนี้ถูกนำมาใช้ในการบริหารระบบราชการไทยอย่างเข้มข้นมากขึ้น ดังจะพบว่าข้าราชการและหน่วยงานทุกหน่วยงานจะต้องจัดระบบประเมินผลงานของทั้งระดับบุคลและระดับหน่วยงาน มีการกำหนดตัวชี้วัดที่น่าเชื่อถือ รวมทั้งมีการให้ผลตอบแทนตามผลการปฏิบัติงานจากเดิมที่อาจจะให้ตามลำดับอาวุโสและอายุการทำงาน


นอกจากนี้ในประเทศไทยเรายังมีการปรับเปลี่ยนให้มีการพิจารณาความดีความชอบปีละ 2 ครั้ง มีการให้รางวัลในระดับองค์การ เช่นมีโบนัสหรือเงินเดือนเดือนที่ 13 สำหรับหน่วยงานที่มีผลงานดีเด่น มีการให้รางวัล Priministor Award เป็นต้น


4.การสร้างระบบสนับสนุนด้านการพัฒนาบุคลากรเพื่อให้บุคคลากรได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา และยังสนับสนุนให้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปฏิบัติงานมากขึ้น


หลักการในข้อนี้ก็ถูกนำมาใช้ในการบริหารระบบราชการไทยเช่นกัน เช่นมีการนำระบบสำนักงานอัตโนมัติ มีการทำบัตรประชาชนแบบใหม่ที่เรียกว่า Smart Card


5.การจัดการภาครัฐแนวใหม่สนับสนุนให้มีการเปิดกว้างในการแข่งขัน หลักการในข้อนี้เกิดจากการที่รัฐบาลมีภารกิจมากจนเกินไป เข้าไปมีบทบาทในระบบเศรษฐกิจมากเกินไปและไม่มีประสิทธิภาพ New PM จึงเสนอว่ารัฐจะต้องยอมรับเรื่องของการแข่งขัน


การแข่งขันในที่นี้จะต้องมีความเสรี เป็นการแข่งขันที่จะให้เอกชนเข้ามาปฏิบัติงานในส่วนที่รัฐเคยทำและไม่มีประสิทธิภาพ เช่นการจ้างเหมา การให้เช่า หรือแม้กระทั้งการแปรรูป


การแข่งขันในส่วนนี้จะเป็นการแข่งขันระหว่างภาครัฐด้วยกัน หรือระหว่างรัฐกับเอกชนก็ได้


ในประเทศไทยหลักการข้อนี้ถูกนำมาใช้อย่างมากเช่นกัน เช่นการเปิดให้มีการแข่งขันในกิจการโทรศัพท์จากเดิมที่ผูกขาดด้วยหน่วยงานของรัฐ หรือในธุรกิจการบินที่เวลานี้มีสายการบินเพิ่มขึ้นทำให้ประชาชนมีโอกาสเดินทางในราคาที่ถูกลง หรือในกิจการเกี่ยวกับการขนส่งเช่นการตรวจสภาพรถจากเดิมที่ผูกขาดด้วยสำนักงานขนส่งก็เปิดให้เอกชนเข้ามาแข่งขัน


การที่มีการแข่งขันมากขึ้นทำให้ประชาชนมีทางเลือกในการใช้บริการในด้านต่างๆเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันประชาชนก็จะได้รับบริการในราคาที่ถูกลงและได้รับความพึงพอใจมากขึ้น


นั่นคือหลักการของ New PM ที่มีผลอย่างมากต่อการปรับเปลี่ยนการบริหารงานภาครัฐของไทยมาสู่การจัดการแบบใหม่ รวมทั้งการปฏิรูประบบราชการของไทยเองก็ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดดังกล่าวเช่นกัน


2.แนวคิดเกี่ยวกับการบริหารจัดการภาครัฐที่ดี (Good governance)


เป็นอีกแนวคิดหนึ่งที่มีอิทธิผลและมีบทบาทต่อการบริหารภาครัฐในปัจจุบัน รวมทั้งมีอิทธิพลต่อการปฏิรูประบบราชการของไทยด้วย


สำหรับหลักการของ Good governance นักวิชาการจะกำหนดไว้หลากหลายในที่นี้มองว่ามีหลักการที่สำคัญคือ


-ความโปร่งใส หมายถึงระบบราชการจะต้องทำงานอย่างโปร่งใส พร้อมให้ประชาชนตรวจสอบได้ตลอดเวลา


-ความรับผิดชอบ หมายถึงในปัญหาใดๆที่เกิดขึ้นจะต้องมีผู้รับผิดชอบหรือมีเจ้าภาพทีชัดเจน


-การใช้หลักนิติธรรม หมายถึงการทำงานของระบบราชการจะต้องคำนึงถึงหลักกฎหมาย หลักการนี้จะทำให้ประชาชนได้รับความเสมอภาคจากการบริการของรัฐ


-ความมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน การทำงานของระบบราชการจะต้องคำนึงถึงผลของการทำงานให้บรรลุเป้าหมายและมีต้นทุนในการทำงานที่ต่ำที่สุดด้วย





 
แนวคิดดังกล่าวถูกนำมาใช้ในการบริหารระบบราชการไทยโดยมีการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหลักการธรรมมาภิบาลในภาครัฐ
เป้าประสงค์ในการพัฒนาระบบราชการไทย


ถ้าพิจารณาจากเป้าประสงค์หลักของการพัฒนาระบบราชการไทยก็จะพบว่ามีความสอดคล้องกับแนวคิดการจัดการภาครัฐแนวใหม่ กล่าวคือ


เป้าประสงค์แรก การพัฒนาคุณภาพการให้บริการประชาชนที่ดีขึ้น


ในเรื่องนี้มีการกำหนดตัวชี้วัดต่างๆเช่น


1.ประชาชนร้อยละ 80 ต้องมีความพึงพอใจในการรับบริการ เวลานี้หน่วยราชการทุกหน่วยจึงต้องมีการสำรวจความพึงพอใจของประชาชน


2.ต้องลดระยะเวลาและขั้นตอนในการปฏิบัติให้ลดลงให้ได้ร้อยละ 50 ภายในปี 2550 (เช่นบริการที่เคยใช้เวลา 30 นาที่จะต้องลดให้เหลือ 15 นาที )
เป้าประสงค์ที่สอง คือการลดภารกิจและขนาดให้มีความเหมาะสมก็มีตัวชี้วัดที่ชัดเจนเช่นกัน คือ


1.จะต้องลดภารกิจที่ไม่ใช่ภารกิจหลัก (Non Core Function) ให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ภายในปี 2550 อาจจะทำโดยการถ่ายโอน การจ้างเหมา


2.หน่วยราชการไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 จะต้องทำตามเจตนารมณ์ตามมาตรา 3/1 ของ พรบ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน หรือตามพระราชกฤษฎีกาที่ประกาศใช้เมื่อปี 2546 ซึ่งมีการกำหนดตัวชี้วัดในการดำเนินงานของหน่วยงานอย่างชัดเจน


3.จะต้องมีการยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ ไม่น้อยกว่า 100 ฉบับภายในปี 2550


4.จะต้องรักษาสัดส่วนเงินงบประมาณแผ่นดินต่อรายได้ประชาชาติไม่ให้เกินร้อยละ 18 ในช่วง 5 2546-2550


5.ลดจำนวนข้าราชการลงให้ได้ร้อยละ 10 ภายในปี 2550 พร้อมทั้งเพิ่มศักยภาพของกำลังคน (เวลานี้ข้าราชการพลเรือนมี 3 แสนกว่าคน การลด 10 % ถือว่าน้อยมาก)


เป้าประสงค์ที่สาม คือการยกระดับขีดความสามารถและมาตรฐานของการทำงานให้อยู่ในระดับสูงเทียบเท่าเกณฑ์สากล คือต้องปรับปรุงการทำงานให้ได้มาตรฐาน เช่นโรงพยาบาลก็จะมีมาตรฐานที่เรียกว่า HA


ข้าราชการจะต้องพัฒนาขีดความสามารถหรือพัฒนาสมรรถนะหลัก โดยหน่วยราชการร้อยละ 90 จะต้องได้รับการพัฒนาการให้บริการ หรือสามารถดำเนินการในรูปของรัฐบาลอีเล็กทรอนิกส์


เป้าประสงค์ที่สี่ ที่เน้นการเป็นรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย จะเน้นเรื่องความโปร่งใส เวลานี้ทุกหน่วยราชการก็จะดำเนินการตามนโยบายประเทศไทยใสสะอาด ส่วนราชการจะต้องมีการดำเนินการที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมของหน่วยงาน มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน เช่น


ปัญหาความขัดแย้งและข้อร้องเรียนระหว่างหน่วยงานกับประชาชนจะต้องเพิ่มขึ้นไม่เกินร้อยละ 20 ต่อปี (แต่เวลานี้คดีที่อยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองมีจำนวนมาก) การมีคดีความมากๆสะท้อนให้เห็นว่าการดำเนินงานของระบบราชการยังไม่มีความราบรื่น มีความขัดแย้ง


สรุป ทุกวันนี้การจัดการภาครัฐ จึงเป็นบริหารรัฐกิจยุคใหม่ ทั้งเรื่องของการบริหารงาน บริหารคน และบริหารเงินโดยมีลักษณะทีสำคัญคือ


-บริหารคนโดยยึดคนเป็นเป็นศูนย์กลาง พัฒนาคน ทั้งกาย จิตใจ สติปัญญา


-บริหารงาน โดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อม บริหารงานท่ามกลางเงื่อนไขที่ยืดหยุ่น บริหารงานในลักษณะงานเฉพาะกิจ การจัดองค์การต้องเป็นองค์การแบบ Organic ไม่ใช่ Mechanic


-บริหารเงิน โดยโปร่งใส กระจายอำนาจ


หรือการบริหารราชการทุกวันจะเป็นแบบ บริหารงาน บริหาร และบริหารเงิน ในเชิงคุณธรรม จริยธรรม แต่ ยังไม่ทิ้งประสิทธิภาพและประสิทธิผล ในการบริหารงาน อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากแนวคิด New Public Management และ Good Governance นั่นเอง

1 ความคิดเห็น:

  1. ขอโทษนะครับ พอดีอยากทราบว่า แนวคิด New Public Administration ใครเป็นคนคิดค้นครับ ขอบคุณครับ

    ตอบลบ

my photo